วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

โรคอ้วน OBESITY

โรคอ้วน (OBESITY)
ภาวะที่ไม่พึงปรารถนา

                     
 โรคอ้วนคืออะไร
              
                     โรคอ้วนคือโรค อ้วน คือ สภาวะร่างกายมีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติโดยมีการสะสมของไขมันใต้ผิวหนัง ผลของโรคอ้วนทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตลอดจนกระทบถึงปัญหาทางด้านจิตใจ ด้านสังคม โรคอ้วนสามารถแก้ไขได้โดยการรู้จักวางแผนการบริโภคอาหาร มีการสะสมของไขมันใต้ผิวหนัง ซึ่งวัดได้โดย
·       น้ำหนักเกินจากมาตรฐานตั้งแต่ร้อยละ20 ขึ้นไป โดยใช้น้ำหนักมาตรฐานซึ่งอยู่ในส่วน สูงระดับเดียวกัน หรือน้ำหนัก ส่วนสูงเทียบ ค่ามาตรฐาน น้ำหนัก ส่วนสูงของประชาชนไทย อายุ 1 วัน - 19 ปี   กรมอนามัย พ.ศ. 2530  อยู่ระหว่าง Percentileที่ 90 - 97 จัดเป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักมากกว่าปกต(เริ่มอ้วน) และ Per-centile ที่ 97 ขึ้นไป   ถือว่าเป็นโรคอ้วน
·       ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index - BMI)    คำนวณโดยใช้น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หาร ด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง สำหรับคนปกติ จะมีค่ามาตร-ฐานอยู่ระหว่าง 20 -24.9 กิโลกรัม / ตารางเมตร ถ้า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 25 กิโลกัม /ตารางเมตร ถือว่าเริ่มอ้วน และ BMI มากกว่า30 กิโลกรัม / ตารางเมตร ถือว่าเป็นโรคอ้วน   สำหรับมาตรฐานการตัดสินว่า เป็นโรคอ้วนมีความแตกต่างกัน บางแห่งตัดสินที่ BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 25 กิโลกรัม/ตารางเมตร และบางแห่งตัดสินที่ BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30  กิโลกัม / ตารางเมตร

                        ยังไม่เคยเห็นใครที่ขันอาสาออกหน้ารับกับความอ้วนโดยยินดีสักครั้ง ทั้งนี้เพราะภาวะดังกล่าวเป็นภาวะล้นเกินของโภชนาการ หรืออาจมีเหตุจากความบกพร่องทางด้านความสมดุลของร่างกาย แถมยังก่อให้เกิดโรคร้ายตามมาอีกเป็นระลอก  ที่แน่ ๆ สภาพของ  คนอ้วน”   ไม่ค่อยน่าดูนักในสายตาของใครต่อใคร เว้นไว้แต่เป็นตัวตลกให้เพื่อนขำขันก็เท่านั้น
                  โดยโรคอ้วนจะเพิ่มปริมาณผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ได้พยายามรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงโรคภัยที่จะตามมากับภาวะอ้วน (FAT) ขณะเดียวกันประเทศที่เริ่มประสบปัญหากับโรคอ้วนควรต้องผลักดันปัญหาล้นเกินทางโภชนาการให้เป็นประเด็นสำคัญระดับชาติ
โรคอ้วนในหมู่คนไทย
               ข้อมูลจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ระบุว่า ภาวะอ้วนเป็นโรคอย่างหนึ่งซึ่งมีปริมาณไขมันในร่างกายมากกว่าปกติ โดยลักษณะการกระจายตัวของไขมันในร่างกายที่มีผลร้ายต่อสุขภาพนั้นแยกออกเป็น อ้วนทั้งตัวกับ อ้วนลงพุง

อ้วนทั้งตัว         จะพบว่าผู้ป่วยมีไขมันทั้งร่างกายมากกว่าปกติ และไขมันที่มาก ๆ นั้นไม่ได้จำกัดอยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของร่างกายโดยเฉพาะ





อ้วนลงพุง      – จะพบว่าผู้ป่วยมีไขมันของอวัยวะในช่องท้องมากกว่าปกติ รวมทั้งอาจมีไขมันใต้ชั้นผิวหนังบริเวณหน้าท้องเพิ่มขึ้นด้วย


เกณฑ์เสี่ยงของโรคอ้วนลงพุง
              ตามแนวทางของ สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation) อ้วนลงพุงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของคำจำกัดความของ โรคอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome)   คนที่มีกลุ่มของปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วนลงพุง (เมตะบอลิก ซินโดรม) คือคนที่อ้วนลงพุง
(ผู้ชายวัดรอบเอวได้มากกว่า 90 ซม. และผู้หญิงวัดรอบเอวได้มากกว่า 80 ซม.) บวกกับมีปัจจัยเสี่ยงอีก 2 ใน 4 อย่างต่อไปนี้
1.ความดันโลหิตสูง 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
2.น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสูง 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
3.ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
4.ระดับไขมันเอชดีแอลคอเลสเตอรอลน้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สำหรับผู้ชาย และน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรสำหรับผู้หญิง
                  


                  บางรายเป็นโรคอ้วนทั้งสองลักษณะแต่พบไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นแค่เพียงลักษณะใดลักษณะหนึ่งเท่านั้น
                  การวัดปริมาณไขมันในช่องท้องและไขมันใต้ชั้นผิวหนังบริเวณหน้าท้องจะบอกได้ว่าเราเป็นโรคอ้วนลงพุงหรือไม่ แต่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วนทั้งตัวหรือเปล่านั้น หากต้องการคำตอบที่แน่นอน ต้องทำการวัดดูปริมาณไขมันในร่างกายว่ามีมากน้อยขนาดไหน โดยใช้เครื่องมือพิเศษ ซึ่งสิ้นเปลืองและยุ่งยาก
                ทั่วไปจึงใช้ดัชนีความหนาของร่างกายเป็นหลักในการวินิจฉัย ประกอบกับอัตราส่วนของเส้นรอบเอวต่อเส้นรอบสะโพก มาตรฐานนี้ใช้สำหรับการประเมินภาวะการสะสมไขมันในกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป



สาเหตุที่ทำให้เป็นโรคอ้วน









กรรมพันธุ์      - ถ้าพ่อและแม่อ้วนทั้งคู่ลูกจะมีโอกาสอ้วนถึงร้อยละ 80 แต่ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งที่อ้วนลูกจะมีโอกาสอ้วนถึงร้อยละ 40 แต่ไม่ควรที่จะวิตกกังวลจนเกินเหตุ ไม่ใช่ว่าคุณจะสิ้นโอกาสผอมหรือหุ่นดี
นิสัยจากการรับประทานอาหาร      - คนที่มีนิสัยไม่ดีในการรับประทานอาหาร หรือที่เรียกกันว่า กินจุบจิบ ไม่เป็นเวลาก็ทำให้อ้วนขึ้นได้
การไม่ออกกำลังกาย     - ถ้ารับประทานอาหารที่มากเกินพอดี แต่มีการออกกำลังกาย บ้างก็อาจทำให้ยืดเวลาความอ้วน แต่ถ้ารับประทานอาหารที่มากเกินพอดีแล้วนั่งๆ นอนๆ โดยไร้ซึ่งการยืดเส้นยืดสาย ในไม่ช้าก็จะเกิดการสะสมไขมันในร่างกาย
อารมณ์และจิตใจ     - มีบางคนที่รับประทานอาหารตามอารมณ์และจิตใจ เช่น กินอาหารเพื่อดับความโกรธแค้น กลุ้มใจ กังวลใจ บุคคลเหล่านี้จะรู้สึกว่าอาหารทำให้ใจสงบ จึงยึดอาหารไว้เป็นสิ่งที่สร้างความสบายใจ - แต่ในทางกลับกัน บางคนที่รู้สึกเสียใจ กลุ้มใจ ก็กินอาหารไม่ได้ ถ้าในระยะเวลานานๆ ก็มีผลทำให้เกิดการขาดอาหาร ฯลฯ
ความไม่สมดุลกับความรู้สึกอิ่ม ความหิว ความอยากอาหาร       - เมื่อใดที่ความอยากกินเพิ่มขึ้นเมื่อนั้นการบริโภคก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถึงขั้น "กินจุ" ในที่สุดก็จะทำให้เกิดความอ้วน
เพศ       - ผู้หญิงสามารถอ้วนได้ง่ายกว่าผู้ชาย เพราะโดยธรรมชาติมักสรรหาอาหารมากินได้ตลอดเวลา อีกทั้งผู้หญิงจะต้องตั้งครรภ์ทำให้น้ำหนักตัวมากขึ้น เพราะต้องกินอาหารมากขึ้น เพื่อบำรุงร่างกายและทารกในครรภ์ และหลังคลอดบุตรแล้วก็ไม่สามารถลดน้ำหนักลงให้เท่ากับเมื่อก่อนตั้งครรภ์ได้
อายุ       - เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสที่จะอ้วนก็เพิ่มขึ้น ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งอาจเกิดจากการใช้พลังงานน้อยลง
กระบวนการทางเคมีที่เกิดกับร่างกาย
ยา        - ผู้ป่วยบางโรคนั้น จะได้รับสเตียรอยด์เป็นเวลานานก็ทำให้อ้วนได้ และในผู้หญิงที่ฉีดยาหรือใช้ยาคุมกำเนิด ก็ทำให้อ้วนได้เหมือนกัน







ก็แค่พุงใหญ่ จะเป็น "โรค" ได้อย่างไร?
               
                  โรคอ้วนลงพุง ไม่ใช่แค่ความอ้วนธรรมดา แต่เป็นภาวะอ้วนที่มีไขมันสะสมบริเวณช่วงเอว หรือช่องท้องปริมาณมาก ๆ และก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายหลายระบบ ในทางการแพทย์เรียกโรคนี้ว่า Metabolic syndrome ถือเป็นกลุ่มความผิดปกติที่ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วย ดังนั้นภาวะอ้วนลงพุง จึงนับว่าเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้
  •            ไขมันที่พุงอันตรายกว่าไขมันส่วนอื่นของร่างกายอย่างนั้นหรือ?

                      โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นไขมันตรงส่วนใด หากมีมากเกินไปก็ถือว่าไม่ดีทั้งนั้น แต่ไขมันที่สะสมในช่องท้องหรือบริเวณพุงจะสลายตัวเป็นกรดไขมันอิสระ ส่งผลให้ในกระแสเลือดมีกรดไขมันอิสระเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลเสียต่อระบบต่างๆ ภายในร่างกาย โดยกรดไขมันชนิดนี้จะไปยับยั้งกระบวนการเผาผลาญของกลูโคสที่กล้ามเนื้อ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ความดันโลหิตสูง และอาจส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งตีบและอุดตันได้
                         พบว่าในคนอ้วนลงพุงจะมีระดับฮอร์โมน Adiponectin ในกระแสเลือดลดลง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่พบในเซลล์ไขมันเท่านั้น ระดับ Adiponectin ในเลือดที่ต่ำจะสัมพันธ์กับภาวะดื้อต่ออินซูลิน และเป็นตัวทำนายการเกิดโรคเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย
                           นอกจากนี้ เชื่อว่าความอ้วนและภาวะดื้อต่ออินซูลิน ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการสะสมไขมันในเนื้อตับ เพราะกรดไขมันอิสระที่ออกมาจากไขมันบริเวณพุงจะเข้าสู่ตับโดยตรงได้มากกว่าไขมันบริเวณสะโพก ซึ่งกรดไขมันที่สะสมภายในตับหากเกิดในช่วงที่ร่างกายมีอนุมูลอิสระมากจนเกินที่สารต้านอนุมูลอิสระสามารถรับมือไหว จะส่งผลให้เกิดการอักเสบของตับตามมาอีกด้วย ดังนั้นคนที่อ้วนลงพุงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคตับมากกว่าคนที่มีไขมันสะสมที่สะโพก

คุณ! พุงโตเกินไปหรือไม่?



                   รอบเอวเป็นตัวบ่งชี้ภาวะอ้วนที่ง่ายและชัดเจนโดยไม่ต้องใช้การคำนวณ สำหรับคนเอเชีย ในปัจจุบันการวินิจฉัยว่าใครจัดอยู่ในกลุ่มโรคอ้วนลงพุงบ้าง จะใช้เกณฑ์ดังนี้
  •         เส้นรอบเอวของผู้ชายตั้งแต่ 36 นิ้วขึ้นไป และสำหรับผู้หญิงตั้งแต่ 32 นิ้วขึ้นไป
  •            มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่า 150 มก./ดล.
  •           มีระดับ HDL คอเลสเตอรอล น้อยกว่า 40 มก./ดล.ในผู้ชาย หรือน้อยกว่า 50 มก./ดล.ในผู้หญิง
  •            ความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มม.ปรอท หรือรับประทานยาลดความดันโลหิตอยู่
  •          ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารมากกว่า 100  มก./ดล.


                          พบว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเพียง 3 ข้อจากเกณฑ์ข้างต้น จะมีอัตราการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2 เท่า และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง 4 ข้อจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มเป็น 3 เท่า และเกิดโรคเบาหวานเพิ่มถึง  4 เท่า      นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงสำคัญอื่นๆ อีกที่ส่งผลให้เกิด Metabolic syndrome อาทิ ยิ่งอายุมากก็มีโอกาสเป็นสูงขึ้น พบว่าคนผิวดำจะมีโอกาสพบโรคมากกว่า คนอ้วนมีความเสี่ยงมากกว่าคนผอม ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานจะมีโอกาสเป็นโรคนี้สูง นอกจากนั้นยังมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอื่นๆ ได้ง่าย เช่น ความดันโลหิต เป็นต้น



ผลจากความอ้วน
                   




                         ความสุขจากการกิน ร่วมกับภาวะอื่น ๆ ที่ส่งผลให้คนเราอ้วน สักพักจะก่อความทุกข์อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะผลร้ายที่จะมีต่อสุขภาพ
                   เริ่มต้นจาก หายใจไม่อิ่มเกิดจากการสะสมของไขมันบริเวณผนังหน้าท้อง หากอยู่ในอิริยาบทที่ไม่เอื้อต่อการขยายตัวของปอด การหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไปเปลี่ยนถ่ายก็ทำได้เพียงเล็กน้อยหรือกล่าวได้ว่า หายใจได้เพียงตื้น ๆ เท่านั้น  ขั้นถัดมา น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้ข้อต่อต่าง ๆ ทั่วร่างกายต้องแบกรับภาระด้านน้ำหนักเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหัวเข่า คนอ้วนส่วนใหญ่มักเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนเวลาสมควรเสมอ
                   ความอ้วนทำให้การตอบสนองของอินซูลินในร่างกายลดต่ำลง อินซูลินนั้นเป็นฮอร์โมนที่สำคัญในร่างกกาย มีหน้าที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้นคนยิ่งอ้วนมากเท่าใด โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
                   หากจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือมีบาดแผลฉกรรจ์ คนอ้วนมีโอกาสติดเชื้อหรือเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าคนอื่น ๆ และโอกาสหายของแผลก็ช้ากว่าคนอื่น ๆ ด้วย คนอ้วนจะคอยยุยงให้ตับผลิตคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีสูง และหากคอเลสเตอรอลที่มีอยู่ยกขบวนไปสะสมตามผนังเส้นเลือด ขวางการไหลเวียนของเลือดซึ่งจะต้องไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญ ๆ ทั่วร่างกาย จะมีผลทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคเส้นเลือดในสมองตีบทำให้เสียชีวิตได้อย่างกระทันหันและก่อนวัยอันควร
                     ความอ้วนยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับมะเร็งบางชนิด เช่นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งปอด โดยเชื่อกันว่ามีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครโมโซมของเซลล์ จนเซลล์ปกติกลายเป็นเนื้อร้ายผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ๆ มักมีความเครียด หงุดหงิด โมโหง่าย รู้สึกตัวเองมีปมด้อย บางคนเมื่ออ้วนและต้องการที่จะลดน้ำหนัก แต่ก็ทำไม่สำเร็จ ยิ่งทำให้เกิดความเครียด และสุขภาพก็ทรุดโทรมลง เพราะผลทั้งจากความเครียดและความอ้วน
                       สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แพทย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐอเมริกา พบความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนและโรคหอบหืด โดยศึกษาในแง่สุขภาพและสภาพการดำเนินชีวิต จากกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงจำนวน 89,061 คน อายุระหว่าง 27-41 ปี พบว่าผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ปกติมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืดสูงกว่ารายที่มีน้ำหนักตัวตามเกณฑ์ปกติถถึง 3 เท่า และยังพบว่า ความสัมพันธ์ของโรคทั้งสองแปรผันตามซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ยิ่งมีน้ำหนักมาก ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืดมากขึ้น โดยสันนิษฐานว่าเกิดจากการที่ปอดถูกกดทับโดยไขมันส่วนเกิน ทำให้ไวต่อการถูกกระตุ้น



                  

ลดพุง...ลดโรค


          การรักษา Metabolic syndrome หรือ โรคอ้วนลงพุง นั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตเป็นอันดับแรก เช่น การลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย ควบคุมอาหารที่รับประทาน บริโภคผักและผลไม้ให้มากขึ้น ลดการดื่มสุรา ตรวจสุขภาพเป็นประจำ เมื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว ยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล ไขมัน หรือความดันโลหิตได้ อาจจำเป็นต้องมีการใช้ยาในการควบคุมร่วมด้วย เป้าหมายในการใช้ยาก็เพื่อลดระดับไขมัน Triglyceride เพิ่มระดับไขมัน HDL(ทำหน้าที่เก็บกวาดคอเลสเตอรอลจากหลอดเลือดไปขจัดที่ตับ นับว่าเป็นไขมันชนิดดี) และลดระดับไขมัน LDL(ทำหน้าที่นำคอเลสเตอรอลออกจากตับไปสะสมตามผนังหลอดเลือด ถือว่าเป็นไขมันชนิดไม่ดี) ซึ่งเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคเบาหวาน
                       พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งพุงโตมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสะสมโรคมากขึ้นนั่นเอง รู้อย่างนี้แล้ว หันมาออกกำลังกายวันละนิด ค่อยๆ ปรับพฤติกรรมทีละน้อย ทำบ่อยๆ จนกลายเป็นนิสัย นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวแล้ว ยังเป็นเหมือนเกราะป้องกันโรคภัยต่างๆ ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย...
                   ข้อมูลจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่าปัจจุบันคนจำนวนมากนิยมลดความอ้วนโดยการใช้ยา เพราะหลงเชื่อว่าจะช่วยควบคุมน้ำหนักได้เร็วและวิธีการก็ไม่ยุ่งยาก ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ผิดและอันตรายอย่างยิ่ง เพราะการลดความอ้วนด้วยวิธีนี้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์

                   ยาลดความอ้วนที่ซื้อหามาใช้กันเองส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาควบคุมพิเศษ และยาอันตรายที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีผลต่อความอยากอาหาร ช่วยให้ไม่ก่อให้เกิดความอยาก แต่ก็ก่ออาการไม่พึงประสงค์ขึ้นหลายข้อ เช่น ทำให้มีอาการตื่นเต้นสับสน หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ทรงตัวลำบาก ม่านตาขยาย พูดรัว ปวดศรีษะ อาจมีอาการทางจิต เห็นภาพหลอนหรือได้ยินเสียง ในรายที่รุนแรงพบว่ามีไข้สูง เจ็บหน้าอก การไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ชัก อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้การใช้ยาลดความอ้วนอาจทำให้เกิดการแท้งในหญิงมีครรภ์ และถึงแม้จะได้ผลในช่วง 4-6 สัปดาห์แรก แต่ในระยะยาวร่างกายจะเกิดอาการทนต่อยา หากใช้ติดต่อกันนานเกินไปจะมีอาการติดยาได้ และเมื่อหยุดยา น้ำหนักตัวจะกลับมาเพิ่มตามปกติ
                  ยาหรือผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน บางชนิดมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ เมื่อกระตุ้นให้ร่างกายขับน้ำออก น้ำหนักตัวจะลดลงเล็กน้อย แต่ก็มีผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย เพราะสูญเสียน้ำและเกลือแร่บางส่วน ซึ่งปัญหาที่สำคัญของความอ้วนอยู่ที่ไขมัน ไม่ใช่น้ำ

                ยาลดความอ้วนหรือผลิตภัณฑ์ที่มีรำข้าวกับกากใยอื่น ๆ เป็นส่วนผสม ส่วนใหญ่จะพองตัวเมื่อรับประทานเข้าไป ช่วยให้รู้สึกอิ่ม แต่ไม่เกี่ยวกับการช่วยเผาผลาญไขมันส่วนเกิน บางครั้งยังพบว่าเป็นต้นเหตุของการอุดตันในระบบทางเดินอาหาร หากรับประทานเข้าไปแล้วดื่มน้ำตามไม่เพียงพอ
               หัวใจของการลดความอ้วนจึงอยู่ที่การใช้พลังงานส่วนเกินที่สะสมไว้ กับลดพลังงานชุดใหม่ที่จะเพิ่มเติมเข้าสู่ร่างกาย สิ่งที่ต้องทำสองประการคือ ควบคุมการรับประทานอาหารตามธรรมชาติ และเพิ่มกิจวัตรประจำวันกับการออกกำลังกายเข้าไปอย่างต่อเนื่อง
อดอาหารดีไหม

          ไม่ดีแน่เพราะมีผลงานการวิจัยยืนยันแล้วว่า คนที่พยายามลดน้ำหนักตัวด้วยการอดอาหารจนได้ระดับที่พึงพอใจ สักระยะเมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาใหม่ก็ทำการอดอีก การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวแบบขึ้น ๆ ลง ๆ เช่นนี้ มีผลทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น อายุสั้นลง และมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มสูงขึ้น
           นอกจากนี้การอดอาหหารยังทำให้ปริมาณของไขมันและกล้ามเนื้อในตัวคุณลดลง มีผลให้อัตราการเผาผลาญพลังงานในร่างกายลดน้อยลงด้วย เมื่อคุณเลิกอดอาหารและกลับมารับประทานอาหารใหม่ มักพบว่ารับประทานได้มากกว่าเก่า น้ำหนักตัวจะเพิ่มเหมือนเดิม หรือบางทีก็มากกว่าเดิมเสียด้วย    ปกติร่างกายของคนเราจะสะสมพลังงานไว้ในรูปของไกลโคเจนในกล้ามเนื้อ ซึ่งกระบวนนี้ต้องใช้น้ำ 3 กรัมต่อไกลโคเจน 1 กรัม หากเราไม่รับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ก็ไม่มีการสะสมไกลโคเจน ซึ่งหมายถึงไม่มีการสะสมน้ำด้วยเช่นกัน ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นคือ น้ำหนักตัวลดลงในทันที นอกจากนี้การกำจัดอาหารให้ได้พลังงานไม่เกิน 1,200 แคลอรีต่อวัน ทำให้ร่างกายคิดว่ากำลังอยู่ในภาวะขาดอาหาร ร่างกายจะตอบสนองโดยการลดการเผาผลาญพลังงานขณะปกติลง ยิ่งเรากำจัดพลังงานลงนานเท่าไร ร่างกายก็ยิ่งลดการใช้พลังงานลงเรื่อย ๆ แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครอดได้ชั่วชีวิต เมื่อกลับมารับประทานอาหารใหม่ กระบวนการสะสมไกลโคเจนก็จะกลับมาเหมือนเดิม น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากอัตราการใช้พลังงานของเราต่ำลง ก็ยิ่งมีพลังงานเหลือและเกิดการสะสมต่าง ๆ นี่จึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไมคนอดอาหารจึงกลับมาอ้วนมากกว่าเก่า
               ดังนั้นวิธีลดความอ้วนที่ถูกต้องคือ การควบคุมการรับประทานอาหาร และควบคุมน้ำหนักตัวให้สม่ำเสมอ ไม่เพิ่มหรือลดจนเร็วเกินไป โดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีแป้ง ไขมัน และน้ำตาลต่ำนั่นเอง ไม่ใช่วิธีการอดอาหารอย่างที่เข้าใจ